โรคฟันผุในเด็ก สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย อย่าปล่อยให้สุขภาพฟันเด็กเสื่อม
โรคฟันผุในเด็ก ปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่เล็ก อาจส่งผลต่อสุขภาพฟันในอนาคต
นอกจากสุขภาพกายที่ควรหมั่นดูแล สุขภาพช่องปากก็เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นช่วงสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจดูแลเป็นพิเศษจากครอบครัว เพราะถ้าหากปล่อยปะละเลยให้เด็กรับประทานอาหาร ขนม หรือของหวานต่างๆ โดยไม่ยอมควบคุม อาจส่งผลต่อสุขภาพฟันของเด็ก และทำให้เกิดโรคฟันผุในเด็กได้ ดังนั้น การปูพื้นฐาน ทำฟันเด็ก จะช่วยส่งเสริมสุขภาพภายในช่องปากและฟันให้แข็งแรง และควรพบทันตแพทย์เป็นประจำ;
สารบัญ
• โรคฟันผุ คืออะไร
• ปัญหาฟันผุในเด็ก
• พฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคฟันผุในเด็ก
• ระยะของโรคฟันผุ
• วิธีสังเกตอาการฟันผุในเด็ก
• วิธีการรักษาโรคฟันผุในเด็ก
• การป้องกันโรคฟันผุในเด็ก
โรคฟันผุ คืออะไร
โรคฟันผุ คือ เป็นโรคในช่องปากชนิดหนึ่งที่ทำให้เนื้อฟันถูกทำลายจนกร่อนหรือผุ อันเกิดมาจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ (1) ซึ่งเกิดมาจากแบคทีเรียร่วมกับเศษอาหารสะสม ที่เรามองเห็นเป็นคราบเคลือบตามพื้นผิวของฟัน ที่เรียกว่า “คราบพลัค” (Plaque) โดยจะแปรเปลี่ยนสภาพตัวเองให้กลายเป็นกรดซึ่งจะสามารถทำลายเนื้อฟัน จนทำให้เกิดเป็นโรคฟันผุ ถ้าหากไม่รีบรักษา อาจลุกลามทำให้เกิดโรคในช่องปากอื่นๆ ได้ เช่น โรคเหงือกบวม โรคเหงือกอักเสบ เป็นต้น
ปัญหาฟันผุในเด็ก
ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรกที่ขึ้นมาเมื่อเด็กมีอายุ 4 – 7 เดือน และจะค่อยๆ ทยอยขึ้นมาครบ 20 ซี่เมื่อเข้าอายุ 2 ปี แต่รู้หรือไม่ว่า ปัญหาฟันผุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กยังอายุยังไม่ครบ 1 ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการน้ำตาลที่อยู่ในน้ำนมหรือนมชง หรือมาจากขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ ลูกอมต่างๆ หากให้รับประทานโดยไม่มีการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของคราบพลัคในปาก จนกลายเป็นโรคฟันผุ อีกทั้งฟันน้ำนมมีความแข็งแรงน้อยกว่าฟันแท้ จึงสามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคฟันผุและเสี่ยงทำให้ฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นมาผุได้เช่นกัน
พฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคฟันผุในเด็ก
พฤติกรรมในการรับประทานขนม ของหวาน ลูกอมต่างๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นบ่อเกิดของคราบพลัคจนเกิดเป็นกรดไปกัดกร่อนชั้นเนื้อฟัน แต่ของหวานและขนมคบเคี้ยวสำหรับเด็กวัยนี้ก็คงหลีกเลี่ยงให้งดรับประทานเลยเป็นไปไม่ได้ พฤติกรรมการแปรงฟันและบ้วนปากจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของฟันด้วยเช่นกัน หากไม่แปรงฟันและบ้วนปากหลังรับประทานอาหารหรือทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ อาหาร น้ำตาลที่เด็กรับประทานเข้าไปก็จะติดอยู่ภายในฟัน ก็จะทำให้เกิดโรคฟันผุได้เช่นเดียวกัน (2) อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำฟันเด็ก
ระยะของโรคฟันผุ
ระยะที่ 1
กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน (Enamel) มีการเปลี่ยนแปลงที่ชั้นเคลือบฟันโดยกรดจะเริ่มไปทำลายให้เปลี่ยนจากสีขาวใสกลายเป็นสีขุ่น ในระยะนี้ยังคงไม่มีอาการเจ็บหรือปวดเกิดขึ้น
ระยะที่ 2
กรดเริ่มกัดกร่อนไปจนถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentin) ทำให้เกิดรอยสีดำ หรือสีน้ำตาล มีรูผุ มีโอกาสที่เศษอาหารจะเข้าไปติดอยู่ภายในเมื่อรับประทานอาหารและเริ่มรู้สึกเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารอุณหภูมิจัดหรือรสชาติจัด เช่น ไอศกรีม น้ำซุป
ระยะที่ 3
เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน (Dental Pulp) ที่เป็นส่วนของการรับรู้ความรู้สึก กรดเริ่มทำลายลึกเข้ามายังโพรงประสาทฟันแล้ว ก็จะเกิดอาการปวด เคี้ยวอาหารได้ลำบาก และเศษอาหารก็จะไปติดถึงโพรงนั้น เกิดปัญหากลิ่นปากตามมา
ระยะที่ 4
ในระยะนี้เนื้อเยื่อโพรงประสาทได้ถูกทำลายและลุกลามไปที่ปลายรากฟันและเกิดฝีหนองทะลุขึ้นมาที่บริเวณเหงือก อย่างเลวร้ายที่สุดเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกาย
วิธีสังเกตอาการฟันผุในเด็ก
เนื่องจากอาการเริ่มแรกของอาการฟันผุนั้นค่อนข้างสังเกตได้ยาก ผู้ปกครองอาจไม่ทราบว่าลูกหลานของท่านกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคฟันผุ ซึ่งจริงๆ แล้วสังเกตได้ไม่ยาก โดยดูที่สีของฟัน จากฟันที่เป็นสีขาวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวอมสีเหลืองและมีความมันเงา สามารถใช้ผ้าเช็ดฟันทำความสะอาดได้ และจะสังเกตได้ว่ามีคราบสีเหลืองติดมา ถ้าหากสัมผัสผิวของฟันก็จะรู้สึกว่านิ่มไม่แข็งเหมือนฟันปกติ อันเนื่องมาจากฟันนั้นได้กร่อนเข้าไปจนถึงเหงือก ก่อนตัดสินใจเข้ามา ทำฟันเด็ก กับทันตแพทย์เฉพาะทาง ผู้ปกครองก็สามารถตรวจภายในช่องปากของเด็กได้ จะสังเกตได้ว่าถ้าหากฟันผุแล้วนั้นจะเห็นฟันกรามเป็นสีดำตามร่องของฟัน ถ้าหากปล่อยไว้ก็จะเกิดการผุกร่อนเกิดเป็นรูและขยายใหญ่ขึ้น ฟันซี่นั้นก็จะกลายเป็นสีดำหรือน้ำตาล
วิธีการรักษาโรคฟันผุในเด็ก
เมื่อเกิดโรคฟันผุขึ้น ขอแนะนำให้ไปหาทันตแพทย์เฉพาะทางที่เลือก ทำฟันเด็ก เพราะการทันตกรรมเด็กมีการรักษาที่แตกต่างกับการทันตกรรมสำหรับผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามฟันที่เกิดการผุกรอนแล้วจะไม่สามารถซ่อมส่วนที่สึกหรอหรือส่วนที่ถูกทำลายได้อีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาการของโรคฟันผุด้วยว่ารุนแรงแค่ไหน โดยแพทย์จะพิจารณาตามกรณีไป โดยการรักษาจะมีดังนี้ • การรักษารากฟันน้ำนม (Pediatric Root Canal Treatment) : ทันตแพทย์จะกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน กำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกและล้างทำความสะอาดคลองรากฟันและใส่ยาฆ่าเชื้อ • การอุดฟันน้ำนม (Tooth Filling) : ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันส่วนที่ผุออกแล้วจึงอุดรูผุด้วยวัสดุต่างๆ เพื่ออุดและหยุดการผุ ป้องกันแบคทีเรียไม่ให้เข้าไปก่อตัวเป็นคราบพลัคภายใน • การถอนฟันน้ำนม (Tooth Extraction) : เป็นการนำฟันที่ผุจนไม่สามารถรักษาได้อีกต่อไปออกมาเพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อที่จะไปยังฟันซี่ด้านข้าง
การป้องกันโรคฟันผุในเด็ก
การป้องกันฟันผุนั้นทำได้ง่ายๆ ด้วยการตรวจเช็คสภาพความเสี่ยงของฟันเด็กว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มปรับพฤติกรรม โดยสามารถทำได้ดังนี้ (2)
• ใช้ผ้าสะอาดเล็กๆ ชุบน้ำอุ่น บิดให้หมาด และนำไปเช็ดตามบริเวณสันเหงือก เพดานลิ้น และกระพุ้งแก้ม วันละ 2 ครั้ง (ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กที่อายุไม่ถึงขวบ)
• เด็กควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพิ่มความแข็งแรงให้กับฟัน และบ้วนปากให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำการแปรงฟัน
• ใช้ไหมขัดฟันถูคราบพลัคออก ช่วยให้เหงือกและฟันมีสุขภาพดีขึ้น และซอกซอนได้ลึกกว่าการแปรงฟันปกติ
• หลีกเลี่ยงการให้นมมื้อดึก หรือให้เด็กหลับในขณะที่ยังมีขวดนมอยู่ในปาก เพราะนมมีน้ำตาล ที่เป็นตัวการของการเกิดคราบพลัค
• หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว หรือลูกอม โดยเฉพาะขนมที่มีความเหนียวหนึบติดฟันง่าย
• พบทันตแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
สรุป
โรคฟันผุในเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองหรือพ่อแม่หลายท่านกำลังประสบปัญหา อาจเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ทราบว่าต้องดูแลรักษาฟันและปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องรีบไปดูแลรักษาตามอาการทันที การไปหาทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะช่วยรักษาโรคฟันผุได้
อ้างอิง
(1) อ้างอิงจาก โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย: สาเหตุและการป้องกัน (2) อ้างอิงจาก การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคฟันผุของเด็กวัย 3– 5 ปี ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี